ความเป็นมา
ความเป็นมา
ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 และกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2564 ซึ่งหมายถึงประเทศไทยจะเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด โดยคาดการณ์ว่าใน พ.ศ. 2574 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด คือ มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 28 ของ ประชากรทั้งหมดและเพื่อให้ประชาชนเตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณของภาครัฐในการดูแล ผู้สูงอายุจึงทำให้เกิดระบบการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการออมภาคบังคับและการออมภาคสมัครใจ
สำหรับการออมภาคบังคับ เป็นการออมที่ภาครัฐจัดให้กับผู้ที่เป็นแรงงานในระบบ ปัจจุบันจำนวนแรงงานในประเทศไทยทั้งสิ้น 37.5 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบทั้งสิ้น 17.1 ล้านคน ส่วนที่เหลือ คือ แรงงานนอกระบบ หรือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 20.4 ล้านคน ซึ่งไม่มีการออมภาคบังคับ มีเพียงการออมภาคสมัครใจที่รัฐจัดให้ คือ ประกันสังคมมาตรา 40 (ทางเลือก 1, ทางเลือก 2 และทางเลือก 3) จำนวนกว่า 3.1 ล้านคน และ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 2,400,435 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564) ยังเหลืออีกกว่า 15 ล้านคน ที่ยังไม่อยู่ในระบบสวัสดิการใดๆ
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นกองทุนการออมภาคสมัครใจ ที่รัฐจัดให้กับแรงงานนอกระบบ ที่ไม่มีสวัสดิการอื่นใดรองรับได้มีบำเหน็จบำนาญในยามเกษียณเหมือนแรงงานในระบบจากเงินออมสะสม และเงินที่รัฐสมทบเพิ่มตามช่วงอายุของสมาชิก โดยมีเป้าหมายสำคัญในการลดความเลื่อมล้ำในสังคม สร้างหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตของประชากร ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) มุ่งเน้นด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สร้างความมั่นคงของผู้สูงอายุให้มีรายได้ที่พอเพียงจนถึงวัยเกษียณ ยกระดับศักยภาพของประเทศ พัฒนาคนในหลากหลายมิติ เพิ่มศักยภาพให้เกิดความตระหนก เพิ่มความตระหนักรู้เรื่องการออมเงิน เพื่อความมั่นคงในวัยเกษียณเป็นปัจจัยของความสำเร็จและเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
อำนาจหน้าที่: เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกและเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญ และให้ประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ