หมวดหมู่: การลงทุน

วันที่บทความ: 10/10/2566

มุมมองและกลยุทธ์การลงทุน ไตรมาส 4/2566

HIGHLIGHTS

  • คาดการณ์จุดสูงสุดของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับจากปีนี้เป็นปีหน้า
  • เงินทุนไหลออกและความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐเป็นปัจจัยลบชั่วคราวต่อราคาสินทรัพย์ที่ กอช. ลงทุนซึ่งอาจส่งผลให้มีผลตอบแทนลดลงหรือติดลบในระยะสั้น
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความผันผวนระยะสั้น แต่เป็นปัจจัยบวกต่อ กอช. ในระยะยาว

มุมมองเศรษฐกิจ
ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มที่อ่อนแอเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลังในอดีตซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วรวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ยังคงอ่อนแอ
 

ในภาพของเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) มีแนวโน้มค่อยๆปรับตัวลดลงในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่ยังคงมีความกังวลในเรื่องของภาวะเงินฝืดของประเทศจีน อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งบ่งชี้ว่ากลุ่มประเทศดังกล่าวจะยังมีแนวโน้มในการคงนโยบายการเงินแบบตึงตัวต่อไปยาวนานกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี

 

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2566 ขยายตัวเพียง 1.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากที่ขยายตัว 2.6% ในไตรมาสก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังได้รับปัจจัยหนุนจากภาคบริการที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยแรงหนุนหลักมากจากสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร รวมถึงการขายส่งและการขายปลีกที่ขยายตัวได้ดีตามการบริโภคในประเทศและจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงมีแรงกดดันจากตัวเลขการส่งออกสินค้าที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่เติบโตชะลอตัวลงจากปีก่อน โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย ส่งผลให้การลงทุนจากภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงมาก

 

ปัจจัยลบภายในประเทศที่สะท้อนถึงกระแสเงินทุนไหลออกตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันได้แก่ ความกังวลเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในระดับ 90-100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และความไม่แน่นอนของนโยบายประชานิยมที่จะกระทบต่อราคาสินค้าและต้นทุนทางการเงินของรัฐบาล
 

แนวโน้มตลาดการลงทุน
นักลงทุนมีการปรับเปลี่ยนมุมมองของจุดสูงสุดของเงินเฟ้อของสหรัฐฯจาก ไตรมาส 3-4 ปีนี้ ไปเป็นอย่างน้อยปีหน้า รวมทั้งคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้จุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยรวมของโลกน่าจะเลื่อนออกไปจากการคาดการณ์เดิมของนักลงทุน รวมทั้งตลาดตราสารหนี้ไทยยังมีปัจจัยลบใหม่ จากอุปทานพันธบัตรรัฐบาลที่มากกว่าคาดและความกังวลต่อระดับหนี้ของรัฐบาลที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการอุดหนุนการบริโภคของประชาชน

 

คาดว่าจะยังคงมีความผันผวนอย่างมากต่อเนื่องในตลาดตราสารหนี้ในไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมน่าจะมีแนวโน้มคงที่ถึงปรับตัวเพิ่มขึ้นจนกว่าจะเกิดความชัดเจนของการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกและการก่อหนี้ของรัฐบาล

 

กระแสเงินทุนไหลออกเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาหุ้นไทยในระยะสั้น บรรยากาศการบริโภคและการลงทุนที่เป็นบวกน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหุ้นไทยในเชิงพื้นฐาน แม้ว่าจะมีผลกระทบด้านลบจากนโยบายภาครัฐต่อหุ้นบางตัว แต่ไม่มากนัก

 

กลยุทธ์การลงทุน
จากมุมมองตลาดตราสารหนี้ที่ผันผวนดังที่กล่าวข้างต้น ทางกองทุนจึงยังคงกลยุทธ์การลงทุนแบบระมัดระวัง โดยจะหาโอกาสปรับเพิ่มอายุคงเหลือเฉลี่ยของกองทุนเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางถึงระยะยาวพุ่งสูงขึ้น รวมทั้งตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไทยยังคงมีอัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจ ซึ่งการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนในจังหวะนี้จะสามารถช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนลงได้บ้างและสร้างอัตราผลตอบแทนของกองทุนที่ดีในระยะยาวได้

 

มุมมองตลาดหุ้นไทยค่อนข้างเป็นกลาง (Neutral) โดยเน้นการลงทุนในหุ้นรายตัวที่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว รวมทั้งหุ้นที่น่าจะได้รับผลบวกจากนโยบายภาครัฐ

 

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2566 ถือว่าเป็นข่าวดีและปัจจัยบวกต่อการเข้าสะสมการลงทุนของ กอช. ซึ่งเป็นกองทุนบำนาญระยะยาวที่มีสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของราคาตราสารหนี้ในตลาดอาจส่งผลต่อความผันผวนของมูลค่าหน่วยลงทุนของ กอช. ในระยะสั้นได้ แต่น่าจะเกิดขึ้นชั่วคราวและจะส่งผลดีต่อผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาว