หมวดหมู่: การบริหารความมั่งคั่ง, การลงทุน

วันที่บทความ: 06/05/2563

"เคล็ดลับ “ฟิตสุขภาพการเงิน"

          อยากรู้หรือไม่ ว่าสุขภาพทางการเงินของคุณยัง "ฟิต & เฟิร์ม" อยู่หรือเปล่า พบกับบทความจาก www.kapook.com ที่จะเป็นแนวทางให้กับคุณได้ลองเช็คสุขภาพการเงินของตัวเองแบบง่ายๆ 

         สุขภาพดีหาซื้อไม่ได้ ถ้าอยากแข็งแรงก็ต้องออกกำลังกาย เช่นเดียวกันกับความมั่นคงทางการเงิน หากต้องการมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี มีเงินเหลือใช้ ไม่ต้องลำบากในอนาคต เราควรวางแผนการใช้เงินอย่างรอบคอบ ด้วยการฟิตสุขภาพทางการเงินให้แข็งแรงตามเคล็ดลับต่อไปนี้ที่ทำได้ไม่ยากอย่างที่คิด

        1. ตรวจสุขภาพทางการเงินของตัวเองก่อน

         ก่อนอื่นเราต้องทราบสถานการณ์ทางการเงินของตัวเองเสียก่อนว่า มีรายรับเดือนละเท่าไร มีค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน รายรับครอบคลุมรายจ่ายในแต่ละเดือนไหม มีหนี้สินหรือไม่ หากมองภาพรวมได้ทะลุปรุโปร่ง จะช่วยให้บริหารจัดการเงินได้อย่างมีระบบระเบียบมากขึ้น ทำให้ทราบว่าในแต่ละเดือนเราเสียเงินไปกับอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่ฟุ่มเฟือย เผลอใช้จ่ายไปโดยเปล่าประโยชน์ แทนที่จะเปลี่ยนเงินฟุ่มเฟือยส่วนนั้นมาเป็นเงินออม

        2.ควบคุมค่าใช้จ่าย

เมื่อรู้สถานการณ์การเงินของตัวเองแล้ว ควรจัดสรรการใช้จ่ายให้เหมาะสม โดยตั้งเป้าเลยว่าจะควบคุมค่าใช้จ่ายด้วยวิธีไหน เพื่อให้รายจ่ายไม่แซงรายรับ อุดรูรั่วตรงไหนให้เงินยังอยู่กับเรามากที่สุด ที่สำคัญคืออย่าเผลอใจใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นเด็ดขาด เพื่อจะได้มีเงินเหลือเก็บออม

        3.จัดการหนี้สิน

        ในกรณีมีหนี้สิน เราควรจัดการหนี้ให้หมดโดยไว และควรกันเงินส่วนที่ต้องจ่ายหนี้แต่ละเดือนให้เพียงพอ รวมถึงต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดและไม่สร้างหนี้เพิ่มอีก

        4.หารายได้เพิ่ม

สำหรับคนที่วางแผนการเงินก็แล้ว จัดการหนี้สินก็แล้ว ประหยัดก็แล้ว แต่รายจ่ายก็ยังแซงรายรับทุกเดือน แบบนี้อยู่เฉยคงไม่รอด ลองมองหารายได้เสริมที่พอจะทำได้ เช่น ค้าขายออนไลน์ หรือขยันเพิ่มขึ้นอีกหน่อย ช่วงไหนว่างก็หางานเพิ่ม ให้เรามีรายได้ที่มากกว่าเดิม

       5.ต่อยอดเงินออม

         เราต้องหมั่นสร้างวินัยการออมเงิน โดยการพยายามบังคับตัวเองให้ออมเงินทุกเดือน อย่างน้อยทยอยออมเงินทุกวัน วันละ 20-100 บาทก็ยังดี หรือถ้าเดือนไหนมีรายได้มากกว่าปกติก็ควรนำเงินที่ได้เพิ่มมาเก็บออมไว้ พยายามออมเงินอย่างสม่ำเสมอและอย่านำเงินออมนั้นไปใช้จ่ายอย่างอื่น ถ้าเราขยันออม สุขภาพทางการเงินของเราก็จะแข็งแรง เสมือนกับการออกกำลังกาย ซึ่งถ้าเราทำต่อเนื่อง ร่างกายก็ฟิต แอนด์ เฟิร์ม

       6.ลงทุนให้เงินงอกเงย

หากเรามีเงินออมพอประมาณแล้ว ลองหาวิธีให้เงินทำงานแทนเรา โดยนำเงินออมไปลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับคืนมา อาทิ การนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมตราสารหนี้  สลากออมทรัพย์ หรือหากยอมรับความเสี่ยงสูงได้ สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน เป็นต้น

       7.นึกถึงอนาคต

        ยิ่งเราอายุมากขึ้น ร่างกายก็มีแต่จะทรุดโทรม เรี่ยวแรงจะหาเงินก็ลดลง ดังนั้นในขณะที่มีแรง มีกำลังสร้างรายได้ เราควรออมเงินเพื่ออนาคตไว้ แก่ตัวไปจะได้มีชีวิตที่สุขสบาย แต่ถ้าอยากมีเงินเป็นหลักประกันในยามเกษียณ ลองแบ่งเงินบางส่วนไปออมกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งรัฐบาลจะให้เงินสมทบสูงสุด 100% ตามช่วงอายุ และเมื่อถึงวัยเกษียณจะได้รับบำนาญทุกเดือน เหมาะกับคนที่มีอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีสวัสดิการในยามเกษียณ เพียงมีอายุ 15-60 ปี ก็สามารถสมัครและเริ่มต้นออมกับ กอช. ได้เลย

อยากมีสุขภาพแข็งแรงก็ต้องฟิต หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าอยากเพิ่มความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณ ก็ต้องขยันออม และวางแผนการใช้เงินด้วยนะคะ

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก 

https://money.kapook.com/view207541.html