ใช้จ่ายอย่างประหยัดเพื่อเป็นหลักสร้างความสุข ตามพระราชดำรัสของพ่อหลวง
“การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัวช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒
การประหยัดอดออมเป็นหนทางสู่รากฐานแห่งความสำเร็จ การที่เรารู้จักคุณค่าของสิ่งของ และใช้สิ่งของเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ คือ แนวทางประหยัดที่นอกจากจะดีกับตัวเราเองแล้ว ยังดีต่อส่วนรวม คือ ช่วยให้การใช้ทรัพยากรในภาพรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น ดังคำพระราชดำรัสของพ่อหลวง ที่กล่าวไว้ ลองมาดูแนวคิดของการประหยัดเพื่อใช้เป็นหลักสร้างความสุข ดังต่อไปนี้
แนวคิดแรก “รู้จักพอคือความสุขที่แท้จริง”
เคยคิดกันบ้างไหมครับ เวลาเราอยากได้อะไร เมื่อเราได้มันมาแล้ว กลับรู้สึกเฉย ๆ และในใจก็อยากได้อีก อยากได้ของใหม่ อยากได้มือถือรุ่นใหม่ อยากได้รถคันใหม่ อยากไปเที่ยวต่างประเทศอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย เพราะมือถือเครื่องเก่าก็ยังใช้ได้ รถคันเก่าก็ยังขับได้ไม่มีปัญหา หรือการไปเที่ยวต่างประเทศก็ไม่จำเป็นมากนัก หรือเพิ่งไปเที่ยวมาแต่กลับอยากไปอีก สิ่งเหล่านี้คือ “อารมณ์ของความอยาก” เมื่อเราได้มาแล้วมันก็เติมไม่เต็ม พอเราได้สิ่งที่อยากแล้ว อารมณ์ที่ตามมาคือ “เฉย ๆ” ทำให้เราอยากได้อีกไปเรื่อย ๆ ไม่จบ
สำหรับคำสอนของพ่อหลวงที่ให้เราพอเพียง หมายถึง ให้เรากำจัดความอยากส่วนเกินออกไป ถ้าเรารู้สึกเติมไม่เต็มลองหันไปมองดูคนที่ขาดโอกาสเหมือนเรา ไม่มีเงินพอจะไปซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เหมือนกับเรา เพียงแค่มีข้าวกินอิ่มท้องก็ทำให้เขาเหล่านั้นพอใจมากแล้ว คิดได้แบบนี้ความอยากก็จะทำอะไรใจเรายากขึ้น ทำให้เรารู้สึกพอเพียง เมื่อเราพอ เราก็ไม่ต้องจ่ายส่วนเพิ่ม และนั่นทำให้เราประหยัดเงินได้มากโข นำเงินที่เหลือเก็บไปต่อยอดให้งอกเงยเพื่ออนาคตของเราได้อีกต่างหาก
แนวคิดที่สอง “การประหยัดนั้นถ้าทำกันเยอะ ๆ จะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น”
ทำไมการประหยัดนั้นถ้าทำกันเยอะ ๆ จะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น ? นั่นก็เพราะถ้าเราประหยัดเราจะใช้ทรัพยากรน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น ยาสีฟันที่เราบีบใช้ จนเหลือก้นหลอด หลายคนขี้เกียจบีบยาสีฟันก้นหลอด ก็จะทิ้งขว้างไปทั้ง ๆ ที่ยังมียาสีฟันเหลืออยู่ บางคนอาจคิดว่าแค่เรื่องเล็ก ๆ ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน แต่ลองคิดดูครับว่า ถ้าน้ำหนักยาสีฟันก้อนหลอดเหลือซัก 1 กรัม คนไทยที่ใช้ยาสีฟัน 60 ล้านคน ไม่ยอมใช้ให้หมดเพราะขี้เกียจบีบยาสีฟันก้นหลอดนั้น เท่ากับวัน ๆ หนึ่งจะมียาสีฟันเหลือทิ้งกว่า 60 ล้านกรัมทีเดียว แบบนี้มันเยอะไม่ใช่เล่นเลยนะครับ
พ่อหลวงของเราได้ทำสิ่งนี้เป็นตัวอย่าง เพราะพระองค์ท่านประหยัดใช้ แม้แต่ของเล็ก ๆ สิ่งที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน พระองค์ท่านทำให้เป็นตัวอย่างกับเรา ให้เราเห็นจากการกระทำ การที่เราใช้ของอย่างประหยัด ลำพังคน ๆ เดียวอาจไม่เกิด Impact อะไรมากมาย แต่ถ้าทำเป็นล้านคน เป็นสิบล้านคน จะช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติได้มากมายแค่ไหน และนั่นจะทำให้โลกดีขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ทำให้เราใช้ทรัพยากรน้อยลง เหลือไว้ให้ลูกหลานได้ใช้อีกหลายรุ่นจะดีกว่าครับ
แนวคิดที่สาม “การประหยัดจะเป็นหลักประกันของครอบครัว”
สำหรับอานิสงค์ของความประหยัดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตัวเราเพียงอย่างเดียว หากเรามีครอบครัวที่ต้องดูแล การประหยัดจะเป็นหลักประกันของครอบครัวได้อีกด้วย เพราะถ้าเรากินอยู่ ใช้จ่ายอย่างไม่ฟุ่มเฟือย ก็จะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายในบ้านน้อยลง มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น และยิ่งเราสามารถนำเงินไปลงทุนต่อยอดให้งอกเงยได้ ยิ่งเป็นผลดีต่อครอบครัว ในทางกลับกัน หากเราใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ไม่คิดหน้าคิดหลัง รูดบัตรเครดิต แล้วไปจ่ายขั้นต่ำโดยไม่จำเป็น หรือไปกู้เงินเพื่อซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็น สิ่งนี้นอกจากจะไม่เป็นผลดีแล้วยังอาจเป็นระเบิดเวลาได้ ถ้าเราต้องตกงาน ขาดรายได้ ก็จะทำให้ลำบากในภายหลัง
อย่างไรก็ตามสำหรับการประหยัดจะเป็นหลักประกันของครอบครัวได้อย่างแน่นอน เพราะถ้าเราใช้จ่ายอย่างประหยัด และมีเงินเหลือเก็บในยามฉุกเฉินมากขึ้น เวลาเกิดปัญหา อุปสรรคชีวิต ก็สามารถนำเงินส่วนนี้มาจุนเจือ เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบากไปก่อน แต่ถ้าหากไม่เกิดเหตุการณ์ไม่ดี ทุกอย่างราบรื่น เงินก้อนนี้ก็จะสะสมทบต้นไปเรื่อย ๆ เมื่อนำไปลงทุนต่อยอดจนมากเข้า อนาคตมันอาจกลายเป็นเงินก้อนหลักของครอบครัวยามที่เราเกษียณไปแล้ว ไม่มีแรงทำงานแล้ว บางคนนำเงินไปซื้อกองทุนรวมมีเงินปันผลเลี้ยงยามแก่ หรือแม้แต่นำเงินไปลงทุนซื้ออสังหาฯ ปล่อยเช่า ก็ทำให้สามารถเก็บค่าเช่ากินยามเกษียณได้เช่นกัน
ที่กล่าวมาทั้งหมด คือ แนวคิดการประยุกต์ใช้หลักการประหยัดของพ่อหลวงที่ได้สอนเราไว้เป็นมรดกทางปัญญา ที่เราทุกคนควรน้อมเกล้านำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลจริง อันจะนำความสุข และความเจริญมาสู่ชีวิตของเราได้ แถมยังสร้างความสุขง่าย ๆ อย่างพอเพียงนั่นเองครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.krungsri.com/