ออมแบบคนสวิตเซอร์แลนด์
มีบทความเรื่องการออมเงินของคนสวิตเซอแลนด์ ว่าเขาจะไม่สอนให้ลูกหลานออมเงิน แต่ให้ใช้เงิน (แบบรู้คุณค่า) เลยอาจจะทำให้คนที่อ่านบทความนั้น เข้าใจผิดคิดว่า การออมเงินเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ
ผมคิดว่าบริบทของคนไทยกับคนสวิตเซอร์แลนด์ไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างกันหลายอย่าง ทั้งระบบภาษี กฏหมาย วัฒนธรรม การใช้จ่าย นิสัยส่วนตัว ค่านิยม จึงไม่สามารถบอกได้ว่า หลักการคิดของคนสวิสเซอร์แลนด์จะเหมาะสมสำหรับคนไทย
1. คนสวิตเซอร์แลนด์ไม่มีนิสัยการอวดรวย ถ้าใครที่อวดรวยกลับถูกคนอื่นมองว่า ขี้อวด ดังนั้นวัฒนธรรมบริโภคนิยมแบบอเมริกันจึงไม่สามารถใช้ได้ในประเทศนี้ ถ้าพูดกันแบบตรงๆ ไม่โกรธกัน คนไทยมีนิสัยขี้อวดรวยมากกว่า และการอวดรวยสามารถแสดงออกได้ในหลายรูปแบบ บางคนอวดบ้าน อวดรถ อวดนาฬิกา อวดเครื่องประดับ อวดเงินเก็บในธนาคาร
การที่ไม่มีนิสัยเอาความรวยมาเบ่งทับกัน จึงมองว่า เงินไม่ใช่วัตถุเพื่อการสะสม แต่เป็นเพียงเครื่องอำนวยความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย
ดังนั้นคนสวิตเซอร์แลนด์จึงไม่ได้มีความปรารถนาที่จะเก็บสะสมเงินเพื่อแสดงถึงความมั่งคั่งของตนเองแต่อย่างใด
2. คนสวิตเซอร์แลนด์เป็น Perfectionists คือนิยมชมชอบความสมบูรณ์แบบ ดังนั้นสินค้าและบริการจะต้องมีอรรถประโยชน์ มีคุณภาพสูงสุด ไม่นิยมสินค้าราคาถูกแต่คุณภาพต่ำ
เราจะสังเกตได้จาก สินค้าจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกา ของประกับตกแต่งบ้าน มีดพับ มีคุณภาพที่สูงมาก มีดพับ Victorinox เน้นเรื่องอรรถประโยชน์การใช้สอยแบบสูงสุด แต่ไม่เน้นเรื่องรูปแบบดีไซน์
ดังนั้นคนสวิตเซอร์แลนด์จึงยอมจ่ายแพง เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดี มีประโยชน์ใช้สอยสูง เพราะเขาถือว่าซื้อครั้งเดียวใช้ได้เป็นสิบปี ดีกว่าซื้อมาไม่นานก็ต้องเปลี่ยน
3. ระบบสวัสดิการดี มีระบบการจ่ายเงินชดเชยการว่างงาน ระบบสาธารณสุขที่เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยระบบการศึกษาทั้งในสายสามัญและสายอาชีพที่รองรับได้เพียงพอกับจำนวนประชากร
ดังนั้นการออมเงินเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน จึงมีความจำเป็นน้อยกว่าคนไทย เพราะทุกอย่าง เราต้องดูแลตัวเอง เราจึงจำเป็นต้องมี เงินออม ไว้ใช้จ่ายในเวลาจำเป็น
4. ภาษีการรับมรดก (Inheritances Tax) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีการรับมรดก โดยมีอัตราส่วนที่สูงที่สุดในโลกคือร้อยละ 55 (ถ้ามีมรดกพันล้านจะถูกภาษี 550 ล้าน) ดังนั้นการนิยมการเก็บออมไว้เพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลาน แล้วจะต้องจ่ายภาษีเกินครี่ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจูงใจให้กับคนเก็บออมเท่าไหร่ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่ไม่มีการจัดเก็บภาษีการรับมรดก
จากบริบทที่แตกต่างกันระหว่างประเทศไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ เราจึงไม่สามารถใช้บรรทัดฐานของคนสวิส มาใช้ในประเทศไทยได้
ผมมีความเห็นว่า การออม เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ดังจะเห็นได้จากสถานการณ์ล้อคดาวน์จากโควิด-19 คนที่ไม่มีเงินเก็บออมเลย เวลาเจอสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้ขาดรายได้อย่างฉับพลัน จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ต้องให้ภาครัฐมาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
ในขณะที่คนที่ยังมีเงินออมเก็บ กลับได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะอย่างน้อยเงินออมในยามฉุกเฉินนี่แหละที่จะทำให้พวกเขาผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้โดยไม่เดือดร้อนมากนัก
เราไม่จำเป็นต้องไปลอกเลียนแบบวิธีการสอนของประเทศไหน เราต้องยึดมั่นในแนวทางที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของเราสอนเอาไว้ตั้งแต่ยังเด็ก
มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท
อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
มีน้อยจงใช้น้อยค่อยบรรจง
อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน
ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ
ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน
เมื่อพ่อแม่แก่เฒ่าชรากาล
จงเลี้ยงท่านอย่าให้อดระทดใจ
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.posttoday.com/